วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ไอบีเอ็มช่วยเหลือคนตาบอดให้ "มองเห็น" สื่อมัลติมีเดียทางอินเทอร์เน็ต

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ผู้พิการทาง สายตาได้เพลิดเพลินกับสตรีมมิ่งวิดีโอและแอนิเมชั่นบนอินเทอร์เน็ต เครื่องมือใหม่สำหรับการเรียกดูสื่อมัลติมีเดียเป็นผลงานการพัฒนาของห้องปฏิบัติการวิจัยประจำกรุงโตเกียว (Tokyo Research Laboratory) ของไอบีเอ็ม โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยเปิดประตูสู่โลกของคอนเทนต์ที่หลากหลายสำหรับผู้พิการทางสายตากว่า 161 ล้านคนทั่วโลก
คอนเทนต์แบบมัลติมีเดียมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ผู้ใช้ที่มีความบกพร่องหรือความพิการทางสายตากลับไม่ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าดังกล่าว ซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอและเบราว์เซอร์แบบอ่านออกเสียงได้ไม่สามารถรองรับสื่อมัลติมีเดียที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับใช้งานทางด้านภาพหรือการมองเห็น โดยผู้พิการทางสายตาไม่สามารถมองเห็นปุ่มควบคุมมัลติมีเดียที่ปรากฏบนหน้าจอได้ นอกจากนี้เสียงของสตรีมมิ่งวิดีโอ ซึ่งเริ่มเล่นโดยอัตโนมัติหลังจากที่เพจถูกโหลด ก็มักจะแทรกแซงเสียงพูดสังเคราะห์จากซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้พิการทางสายตา ยิ่งไปกว่านั้น คอนเทนต์แบบมัลติมีเดียส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับเมาส์ แทนที่จะเป็นแป้นพิมพ์ จึงทำให้ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถใช้งานคอนเทนต์ดังกล่าวได้
เรื่องมือใหม่สำหรับการเรียกดูสื่อมัลติมีเดียนี้ประกอบด้วยฟีเจอร์ควบคุมมัลติมีเดียสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งทำงานในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการใช้เมาส์ตามปกติ ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการรับชมสตรีมมิ่งวิดีโอบนเว็บไซต์ที่มีการใช้วิดีโอร่วมกัน ผู้พิการทางสายตาจะสามารถเลือกปุ่ม "เล่น" (Play) ด้วยการกดปุ่มชอร์ตคัตบนแป้นพิมพ์ตามที่กำหนดเพื่อควบคุมสื่อ แทนที่จะต้องไล่ดูเนื้อหาคอนเทนต์เพื่อค้นหาปุ่มสำหรับควบคุมวิดีโอ นอกจากนี้เครื่องมือดังกล่าวยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมความเร็วในการเล่นวิดีโอซ้ำ ปรับระดับเสียง และแม้แต่เพิ่มความเร็วของเสียง เนื่องจากผู้พิการทางสายตาที่ฟังเสียงจากสตรีมมิ่งวิดีโอมักจะรู้สึกว่าเสียงมีความล่าช้าเป็นอย่างมาก
เครื่องมือใหม่สำหรับการเรียกดูสื่อมัลติมีเดียนี้จะสามารถปรับระดับเสียงสำหรับแหล่งเสียงแต่ละแหล่ง จึงทำให้ผู้ใช้สามารถระบุและรับฟังเสียงจากแหล่งต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอ และเสียงจากวิดีโอ หากผู้สร้างคอนเทนต์ต้องการใส่เสียงบรรยายลงในวิดีโอ เครื่องมือชนิดใหม่นี้ก็ให้ความยืดหยุ่นในการใช้คำอธิบายข้อมูลหรือเมตาดาต้า (Metadata) ซึ่งประกอบด้วยสคริปต์ข้อความที่อธิบายว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนหน้าจอ นอกจากนี้เครื่องมือดังกล่าวยังทำการปรับแต่งอัตโนมัติเพื่อให้เสียงบรรยายมีลักษณะสอดประสานกับวิดีโอ แม้กระทั่งในกรณีที่ใช้ฟีเจอร์ควบคุมความเร็ว

http://www.arip.co.th/2006/news.php?id=406262

ไม่มีความคิดเห็น: